แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ หลอก โอนเงิน

รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อเหล่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ หลอก โอนเงิน

สำหรับคนไทย ถือว่าตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินจำนวนมากกว่า พันล้านบาท ในระยะเวลาเพียงสองปีเท่านั้น ช่วงปี 2564-2565 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากทีเดียว และไม่คิดว่าจะมีคนไทยที่ถูกหลอกโอนเงินจำนวนมากถึงขนาดนี้ อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้มีการเปิดเผยรายงาน “กลโกงทางการเงินใกล้ตัวกว่าที่คิด” ที่ระบุว่ามีผู้ถูกหลอกโอนเงินกว่า 6.4 ล้านครั้ง และเพิ่มขึ้นกว่า 270% มากกว่าปี 2563 ถึง 1,500 ล้านบาท

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คืออะไร

ยุคนี้หากใครที่ยังไม่เคยเจอสายเรียกเข้าปริศนาที่โทรเข้ามาแจ้งให้โอนเงิน ชำระเงินค่าต่างๆ แบบไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน ถือว่าเชยมากๆ เพราะเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดทั่วประเทศ และมีผู้เสียหายสูญเงินมูลค่าร่วมหลายพันล้านบาท จากความไว้เนื้อเชื่อใจ การไม่ตรวจสอบและด่วนใจเร็ว รวมไปถึงความกลัวที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่แก๊งเหล่านี้ใช้อุบายล่อลวง

กลอุบายของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นมีหลายรูปแบบ บ้างก็ใช้การสร้างเรื่อง สร้างสถานการณ์หลอกว่าผู้เสียหายขาดการจ่ายชำระเงิน มีพัสดุผิดกฎหมาย หรือพัสดุไม่สามารถส่งได้ ให้ทำการโอนเงินเพื่อเป็นค่าดำเนินการ หรือเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่งัดมาใช้หลอกลวง หรือทำการขอข้อมูลส่วนตัวสำคัญของผู้เสียหาย ซึ่งหากไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน หรือเป็นผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดวุฒิภาวะ ก็จะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ในที่สุด

ข้อมูลที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักสอบถาม

  • ชื่อและนามสกุล
  • เลขบัตรประจำตัวประชาชน
  • เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน
  • เลขบัญชีธนาคาร
  • ลวงให้โอนเงินผ่านแอพธนาคาร
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

แผนการของกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน

ทุกวันนี้ทางหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาเยียวยาผู้เสียหาย สืบสวนและแกะรอยเบาะแสผู้กระทำความผิดจนสามารถจับกุมได้หลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ก็ยังมีที่ลอยนวลอยู่เป็นจำนวนมาก และที่ยังเหลืออยู่ก็ได้เปลี่ยนวิธีใช้กลอุบายใหม่ๆ คิดหาวิธีหลอกผู้เสียหายด้วยช่องทางอื่น หรือใช้คำพูด การสร้างสถานการณ์รูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ยังมีผู้เสียหายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้เสียหายส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เล่นโซเชี่ยล ไม่ได้ติดตามข่าวสารและไม่ทันมุกหลอกลวงเงินของแก๊งโจรเหล่านี้ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อให้รู้เท่าทันแก๊งโจรร้ายลักษระนี้ จึงมีคำแนะนำสำคัญโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รู้ให้เท่าทันมุกหลอกหรือการสร้างสถานการณ์ของคอลเซ็นเตอร์ และวิธีสังเกตพร้อมรับมือจากแก๊งหลอกโอนเงิน เพียงรู้เท่าทันสติ ฉุกคิด และไม่หลงเชื่อ ไม่คล้อยตามกับคำหลอกลวง ตรวจสอบความเป็นจริงก่อน และไม่ด่วนมือไวกดโอนเงินให้โดยเด็ดขาด

มุกหลอกให้โอนเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้บ่อย

เหล่ามิจฉาชีพกลุ่มคอลเซ็นเตอร์มักจะสร้างเรื่องราว เพื่อให้ผู้เสียหายถูกคล้อยตามโดยง่าย อาศัยการสร้างเรื่องราว สร้างสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหาย มีการปลอมตัวอ้างชื่อ อ้างยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อข่มขู่ให้กลัวกับเหตุการณ์นั้นๆ การใช้วิธีโอนสายเพื่อคุยกับผู้ร้ายอีกรายหนึ่งที่ปลอมตัวเพื่อให้เหมือนมีการทำงานร่วมกันแบบหน่วยงานราชการ รวมไปถึงการใช้น้ำเสียงที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกหลอกลวง

สถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเหล่านี้เป็นมุกหลอกที่ใช้ได้ผลดีไม่น้อย และมีผู้เสียหายมาแล้วนักต่อนัก หากคุณทำความเข้าใจแล้วจะเห็นว่า เพียงแค่ไม่โอนเงินให้ ไม่ส่งข้อมูลสำคัญไปให้ ไม่มีทางที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะทำอันตรายอะไรได้เลย อย่างไรก็ตาม เรามาดูกันว่ามีการสร้างเหตุการณ์แบบไหนบ้างที่มักจะนำมาใช้และต้องระมัดระวัง

ปลอมตัวว่าโทรจากศาลอาญา

เมื่อรับสายและได้ยินว่าศาลอาญา แน่นอนว่าต้องกลัวกันทุกคน ถึงแม้จะไม่ได้ทำผิด ส่วนใหญ่จะแจ้งว่า มียอดค้างชำระจากคดีความ ต้องรีบติดตามเจ้าหน้าที่เพื่อจ่ายเงินจะไม่ต้องขึ้นศาลให้เสียเวลา เมื่อเจอแบบนี้ให้ตั้งสติและคิดตามว่าเราไม่ได้มีคดีอะไรมาก่อน และถึงแม้จะมีแต่ทางศาลอาญาก็ต้องมีจดหมายตราครุฑส่งมาถึงบ้านก่อนทุกครั้ง ไม่ได้โทรหรือส่งข้อความแบบนี้แน่นอน

สร้างเรื่องว่าทำผิดกฎจราจร

หากคุณไม่ได้ขับรถยนต์ก็ไม่น่ากลัวอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ใช้รถยนต์ทุกวันก็ต้องสงสัยกับตัวเองบ้างแล้วว่ามีช่วงไหนที่ขับผิดกฎบ้างหรือเปล่า แต่ให้รู้ไว้เสมอได้เลยว่าหากทางตำรวจจราจรจะแจ้งค่าปรับจริง จะต้องส่งใบสั่งมาถึงที่อยู่บ้านเท่านั้น ไม่มีการโทรตามเรียกค่าปรับเป็นรายบุคคลอยู่แล้ว

หลอกว่ามีพัสดุตกค้าง

การช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์กลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว และนี่จึงเกิดเป็นช่องโหว่ของแก๊งมิจฉาชีพที่จะตีเนียนสวมรอยโทรแจ้งว่ามีพัสดุที่คุณสั่งตกค้างอยู่ ไม่สามารถส่งได้ ให้โอนเงินมาก่อนหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องเสียเงิน ซึ่งหากช่วงนั้นคุณไม่ได้สั่งของก็ไม่น่าถูกหลอกได้ แต่ถ้าช่วงไหนสั่งของแล้วมีโทรมาแบบนี้อย่าโอนเงินเด็ดขาด เพราะบริษัท Shipping ที่ไหนก็ไม่มีนโยบายโทรเรียกเก็บเงินทั้งสิ้น หากไม่ใช่การส่งสินค้าแบบปลายทาง

หลอกให้โอนเงินคืนเพราะโอนผิด

การสร้างสถานการณ์ของมุกนี้ มิจฉาชีพจะโทรเข้าและระบุว่าโอนเงินไปผิด ช่วยขอให้โอนเงินคืนให้ทันที พร้อมกับแนบรูปสลิปโอนเงินปลอมในข้อความ ผู้เสียหายที่ตกใจก็จะโอนไปทันทีโดยไม่ได้เช็ค ไม่ตรวจสอบบัญชีให้ดีเสียก่อน

หลอกอายัดเบอร์โทรศัพท์หากไม่จ่ายเงิน

ทางมิจฉาชีพจะทำการหลอกผู้เสียหายว่าเบอร์ที่ใช้อยู่นั้นกำลังถูกค่ายผู้ให้บริการมือถืออายัด เพราะเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายต่างๆ หากไม่อยากให้เบอร์สูญหายต้องรีบโอนเพื่อจ่ายค่าปรับ ดูเหมือนวิธีนี้จะสิ้นคิดและไม่ถูกหลอกง่ายๆ แต่หากเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานน้อยก็อาจเสียรู้ให้โจรเหล่านี้ได้เลย

แผนการของกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์

รับมืออย่างไรให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนเริ่มตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกลอุบายที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้หลอกลวงกันมากทีเดียว ทั้งคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน หากใช้โซเชี่ยลเป็นประจำก็พอจะทราบเรื่องเหล่านี้กันอย่างดี แต่ผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บ อยู่บ้านเพียงลำพัง ไม่มีใครคอยปรึกษาและขาดการติดตามข่าว น่าเป็นห่วงมาก เพราะเสี่ยงถูกหลอกเสียรู้ได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากมีญาติผู้ใหญ่คนรู้จักก็ต้องช่วยกันเตือนและคอยติดตามอย่างใกล้ชนิด

สิ่งหนึ่งที่เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้เหมือนๆ กัน และจับสังเกตได้ง่ายที่สุด คือ การให้เราโอนเงิน ซึ่งไม่ว่าจะหลอกให้คล้อยตามหรือกลัวตกใจด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ อะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วจะจบที่ว่าให้โอนเงินเพื่อเป็นค่าเสียหาย ค่าดำเนินการ ฯลฯ และมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ทำให้ตกหลุมพรางได้ง่าย หากไม่ใจด่วนมือไวโอนเร็ว คิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน และมีสติตลอดเวลา ย่อมไม่ตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพอย่างแน่นอน

รับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อเหล่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ หลอก โอนเงิน Read More »