ไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว เปลี่ยนตัวเอง

ไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว เปลี่ยนตัวเอง ด้วยวิธีคิดแบบ RPM

สำหรับการทำงาน การใช้ชีวิตมุ่งหวังทำสิ่งต่างๆ แต่ละคนย่อมมีเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ และคาดหวังผลลัพธ์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่กับทุกครั้งที่คนเราจะทำตามความฝันได้ เนื่องจากวิธีการที่วางแผน การกระทำที่ได้ทำลงไปอาจจะเป็นวิธีที่ผิด หรือถูกบ้างผิดบ้าง จนทำให้เป้าหมายที่ออกมาไม่ตรงกับความต้องการที่วางไว้ สาเหตุหลักๆ ของความผิดพลาดเหล่านี้เกิดจากการวางแผนไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งกลายเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดไปโดยปริยาย

Rapid Planning Method แนวคิดเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ

Rapid Planning Method

การที่จะทำตามแผนที่ตั้งไว้ได้อย่างถูกต้อง แนะนำให้รู้จักกับเทคนิค Rapid Planning Method หรือ RPM ที่พัฒนามาจากโค้ชธุรกิจชื่อดังอย่าง โทนี่ ร็อบบิน (Tony Robbins) เพื่อให้การทำตามเป้าหมายสามารถวางแผนได้อย่างสำเร็จ ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่น่าสนใจไม่น้อย โดยมุ้งเน้นให้ระบุเป้าหมายที่ต้องการจะสำเร็จชัดเจนที่สุด จากนั้นวางแผนลงมือทำตามเป้าหมาย สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ได้กับทุกบทบาทหรือสิ่งที่ต้องการมุ่งหวังให้สำเร็จ

สำหรับ Rapid Planning Method เป็นแนวทางการวางแผนที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างเป็นระบบก็จริง แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกันแบบเจาะลึกถึงรายละเอียดของแนวคิดนี้ อยากให้เปิดใจยอมรับว่าการทำสิ่งใดก็ตามบางครั้งย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นหากรู้สึกยากลำบากระหว่างการทำตามเป้าหมายที่แม้จะทำตามแผน RPM แต่ก็ขอให้มั่นใจและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองว่าสามารถทำได้ ผ่านมันไปได้

RPM ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

RPM

Result-oriented หรือ R เป็นการระบุผลลัพธ์ที่ต้องการทำให้สำเร็จ โดยให้นึกว่าผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร และจะต้องระบุแบบเฉพาะเจาะจง เช่น อยากลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน อยากทำยอดขายให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ย้ำว่าต้องระบุให้แน่ชัดทั้งปริมาณและเวลา โดยหากโฟกัสกับเป้าหมายได้ชัดเจนจะช่วยให้เราคิดหาไอเดียในการทำให้ประสบความสำเร็จตามที่หวังได้มากขึ้น

Purpose-driven หรือ P เป็นการระบุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ คำว่า จุดประสงค์ และ เป้าหมาย ไม่ได้เหมือนกันเสมอไป เพราะ วัตถุประสงค์ เป็นความหมายในเชิงเหตุผล ซึ่งจะช่วยให้มีน้ำหนักมีที่มาที่ไป ดังนั้น P จึงแปลว่าทำไมเราถึงอยากบรรลุผลลัพธ์นี้ ถ้าตัวเรารู้ที่มาที่ไปชัดเจน จิตใต้สำนึกจะทำให้เรารู้สึกมองเห็นภาพและสิ่งที่จำเป็นต้องทำได้มากยิ่งขึ้น จนนำพาไปสู่ความสำเร็จ

Massive action plan หรือ M เป็นการระบุสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย จุดนี้เป็นเรื่องยากที่สุด เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ เพราะหากรู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายคืออะไรแล้ว เราเองก็ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมถึงต้องการมัน และต้องกำหนดวิธีการที่จะพาไปถึงเป้าหมายด้วย

ความสัมพันธ์ของทั้งสามส่วน

เห็นได้ชัดเจนว่าคำถามทั้งหมดนี้ ถูกเรียงต่อเนื่องกันอย่างเป็นลำดับ ตามความสำคัญที่เราจะต้องตอบกับใจตัวเองให้ได้ เพราะการจะทำให้ผลลัพธ์สำเร็จตามที่มุ่งหวัง จะต้องเกิดจากเป้าหมาย แรงจูงใจ และเหตุผลในการขับเคลื่อน ดังนั้นทั้งสามคำถามจึงมีความสำคัญซึ่งกันและกัน โดยต้องตอบตัวเองให้ชัดเจนที่สุด และเจาะจงมากที่สุด

อย่าหลีกเลี่ยงหรือคาดหวังใช้ทางลัด

อย่าหลีกเลี่ยงหรือคาดหวังใช้ทางลัด

แน่นอนว่าทุกเป้าหมาย ทุกผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ ย่อมมีความยาก มีอุปสรรค และปัญหาต่างๆ มากมาย ยิ่งสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ยากมากเท่าไร ยิ่งทำได้ยากและต้องพยายามมากขึ้นเท่านั้น แต่จะให้คาดหวังและตั้งเป้าแต่เพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ยิ่งใหญ่ตลอดก็คงจะไม่ใช่ เราต้องรู้จักชาเล้นจ์ตัวเองบ้าง ลองทำในสิ่งที่ยาก ออกจาก Comfort Zone ของตัวเองสักครั้งในชีวิต แม้จะเป็นเรื่องที่ดูท้าทาย แต่หากทำสำเร็จจะปลดล็อกความภูมิใจในตนเองได้ดีทีเดียว

เมื่อเจอกับสิ่งที่ยาก แต่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ สมองของคนเรามักจะดิ้นรนหาแนวทางที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องพยายาม นำมาซึ่งการหลีกเลี่ยงทางหรือวิธีการที่ถูกต้องที่ควรทำ การหวังพึ่งทางลัด ทำให้เป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้บางครั้งผลลัพธ์ออกมาได้ไม่ดีพอ หรือทำได้เพียงใกล้เคียง กรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจจะยอมแพ้กับความตั้งใจและล้มเลิกเป้าหมายนั้นทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ตัวอย่างความขี้เกียจหวังทางลัดที่ไม่ควรทำ

สมมติว่าตั้งเป้าหมายในการฟิตหุ่น ออกกำลังกาย สิ่งที่ต้องทำ คือ การกำหนดตารางการออกกำลังกายที่ชัดเจน หากความขี้เกียจเข้าครอบงำ จะหาทางเลี่ยงสิ่งที่จำเป็นต้องทำ จากต้องออกกำลังกายตามตารางเวลาอย่างเคร่งครัดกลายเป็นการเลื่อนเวลา หรือหายาลดน้ำหนักมาทานแทนการออกกำลังกาย

อย่าคาดหวังแต่แผนเพียงด้านเดียว

อย่าคาดหวังแต่แผนเพียงด้านเดียว

อย่างไรก็ตาม Rapid Planning Method เป็นเพียงแนวคิดทางเทคนิคอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นตัวการันตีใดๆ ว่าหากใช้แล้วจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แบบ 100% เพราะที่จริงโลกนี้ไม่ได้มีแผนการใดที่สามารถการันตีผลลัพธ์ได้ตามใจหวัง ดังนั้นจึงใช้ RPM เป็นเพียงตัวช่วยและเชื่อมโยงวิธีการต่างๆ ให้สัมพันธ์กันมากขึ้น

ในสถานการณ์จริง การกระทำใดๆ อาจต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัว และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็ช่วยได้มากที่เดียว เพราะบางครั้งสิ่งที่ต้องทำเป็นเวลานานๆ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายอาจท้อแท้ระหว่างทางได้ การยืดหยุ่น หาสมดุลให้กับตัวเองจะช่วยให้ทำสิ่งที่ต้องทำได้นานมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก

ไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว เปลี่ยนตัวเอง ด้วยวิธีคิดแบบ RPM Read More »